อะไหล่ ปลอม & เทียบ & เทียม
การซ่อมรถยนต์ ไม่จำเป็นต้องใช้อะไหล่แท้เท่านั้นถึงจะทนทาน เพราะยังมีอะไหล่อื่นที่พอเลือกใช้ได้อย่างคุ้มค่าในราคาถูกกว่า
หลาย คนมีความเชื่อว่า อะไหล่อื่นนอกเหนือจากอะไหล่แท้ ในสารพัดชื่อเรียก เช่น อะไหล่เลียนแบบ, อะไหล่ปลอม, อะไหล่เทียบ หรืออะไหล่เทียม ต้องเป็นของที่ไม่ทนทานหรือคุณภาพแย่เสมอไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก
อะไหล่แท้เชื่อถือได้ด้านคุณภาพ และมีบริษัทรถยนต์ให้การรับรองหรือรับประกันชัดเจน แต่ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวสำหรับการเลือกใช้อะไหล่
อะไหล่แท้คืออะไร
การ ผลิตรถยนต์ทุกรุ่น ต้องมีชิ้นส่วนเข้ามาประกอบมากมายหลายพันหลายหมื่นชิ้น ถ้าผู้ผลิตรถยนต์จะผลิตเองทุกชิ้น ก็ต้องใช้เงินจำนวนมากในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน อีกทั้งยังต้องมีปัญหาเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับอีกด้วย
เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมด ก็ต้องมีการจ้างคนอื่นผลิตส่งให้ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นเรียกว่า ซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เช่น ผลิตโช้กอัพ, ลูกปืน, ยาง, ผ้าเบรก, ลูกหมาก, เบาะ และอื่นๆ เกือบทั้งคันก็ว่าได้ ยกเว้นบางอุปกรณ์ที่ไม่อยากให้เทคโนโลยีรั่วไหลหรือมีโรงงานอยู่แล้ว บริษัทรถยนต์จึงจะผลิตเอง
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ไม่มีทางที่บริษัทรถยนต์จะผลิตเองทั้งคัน แต่อาจจะมองข้ามไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ยางรถยนต์ แต่พอเป็นชิ้นส่วนอื่น หลายคนกลับนึกว่าบริษัทรถยนต์ผลิตเอง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะหากผลิตเองต้นทุนจะสูงขึ้นอีกมาก
การสั่งชิ้นส่วนหรืออะไหล่ จากผู้ผลิตรายย่อยของบริษัทรถยนต์ มีหลักการชัดเจนในทุกกรณีว่า ราคาถูกที่สุด โดยต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนดหรือผ่านการทดสอบ ส่วนชิ้นส่วนที่ดีเกินมาตรฐานแต่ราคาแพง หรือราคาถูกแต่มาตรฐานต่ำกว่า ก็ไม่ผ่านการพิจารณา
โดยมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ไม่ใช่เลอเลิศมาก เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่มีราคาแพงเกินไป
รถยนต์ทุกคันที่จำหน่ายอยู่ทั่วไป ไม่ได้ผลิตให้ดีที่สุด แต่ต้องผลิตให้ผู้ซื้อยอมรับและผู้ผลิตมีกำไรมากที่สุด !
บทบาทของซัพพลายเออร์
การ สั่งซื้อชิ้นส่วนของบริษัทรถยนต์ มีทั้งมอบหมายให้เลยเพราะเป็นบริษัทในเครือ (แต่ก็ต้องมีการควบคุมราคาและคุณภาพ) หรือประกวดราคาแข่งกัน โดยผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดและผ่านมาตรฐานจะได้รับงานไป แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตที่ไม่ได้รับมอบหมายจะไม่สามารถผลิตได้ดี แต่มักจะเป็นเพราะเสนอราคาสูงกว่าคู่แข่ง
ผู้ผลิตชิ้นส่วนเฉพาะทาง ในแต่ละกลุ่มมีหลายราย และในรถยนต์ยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่น บางครั้งก็อาจสั่งชิ้นส่วนต่างแหล่งกันในแต่ละล็อตก็เป็นได้ เพราะเหตุผลด้านราคาเป็นสำคัญ
ชิ้นส่วนที่ประกอบในรถยนต์และอะไหล่ แท้ แน่นอนว่าต้องผ่านมาตรฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะผลิตให้มีคุณภาพเหนือกว่านั้นไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้ถูกต้นทุนกดไว้ ก็น่าจะมีโอกาสทำได้ดีกว่า
ในส่วนของ บริษัทรถยนต์ นอกเหนือจากการสั่งชิ้นส่วนมาใช้ประกอบรถยนต์ ก็ต้องมีการสั่งมาจำหน่ายเป็นอะไหล่ด้วย โดยบริษัทรถยนต์มักพยายามจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการกำหนดให้ตีตราของตนเอง ไว้อย่างชัดเจนบนตัวอะไหล่หรือกล่อง
ส่วนตราของผู้ผลิตต้นกำเนิด จริง ถ้าไม่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทรถยนต์ ก็จะไม่ปรากฏตราใดๆ บนอะไหล่ แต่ถ้าเป็นรายใหญ่ๆ มักจะได้สิทธิ์ตีตราของตนเองควบคู่กับยี่ห้อรถยนต์บนตัวอะไหล่ โดยมักจะเป็นตราขนาดเล็กหรือหลบอยู่ ลองดูได้ในหลายชิ้นส่วนว่า จะพบทั้งยี่ห้อรถยนต์และตราหรือชื่อของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน
สาเหตุ ที่บริษัทรถยนต์ต้องมีการสร้างศรัทธาในยี่ห้อของอะไหล่ ก็เพราะต้องการขายอะไหล่ และไม่อยากให้ผู้บริโภคหันไปซื้ออะไหล่จากที่อื่น
เมื่อ สั่งซื้ออะไหล่มาแล้วก็ต้องบวกกำไรไว้ด้วย อะไหล่แท้จึงมักมีราคาแพง เพราะต้องมีกำไรหลายต่อ ไม่ได้เป็นการส่งออกมาจำหน่ายจากแหล่งผลิตโดยตรง
อะไหล่เทียบ อะไหล่ทดแทน
ใน ตลาดอะไหล่ เมื่อรถยนต์รุ่นใดมียอดจำหน่ายสูงหรือมีแนวโน้มว่าจะขายอะไหล่ได้ดี ผู้ผลิตรายย่อยต่างๆ ก็จะผลิตอะไหล่ที่ใช้ทดแทนได้ออกมาจำหน่าย โดยอาจจะมีผู้ผลิตรายย่อยที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัทรถยนต์ให้ผลิตส่งให้ ผลิตออกมาจำหน่ายเองด้วยในยี่ห้อของตนเอง โดยมีคุณภาพใกล้เคียงมาก โดยอาจใช้วัสดุหรือแม่พิมพ์เดียวกันเลยก็มี เพียงแต่ไม่ได้ตีตรายี่ห้อรถยนต์เท่านั้น
รถยนต์รุ่นที่มียอดจำหน่ายมาก จึงมีอะไหล่ทดแทนออกมาจำหน่าย และควรทำความเข้าใจกับชื่อเรียกกันใหม่
– อะไหล่แท้ = แท้จากบริษัทรถยนต์
– อะไหล่ปลอม = แหล่งผลิตไม่แน่นอน แต่ตีตราบริษัทรถยนต์ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ซื้อ
– อะไหล่เทียบ อะไหล่เทียม อะไหล่ทดแทน = อะไหล่ที่ใช้แทนได้ ตีตราเป็นเอกเทศ ไม่ได้ตีตราบริษัทรถยนต์ มีสารพัดราคาและหลากคุณภาพ
หลาย คนสับสนกับคำว่า อะไหล่ปลอมกับอะไหล่เทียบ อะไหล่เทียม อะไหล่ทดแทน โดยเหมารวมไปว่าอะไหล่ที่ไม่ใช่ของแท้ต้องเป็นอะไหล่ปลอม และมีคุณภาพแย่ไปทั้งหมด
สามารถพิสูจน์ได้จากตัวอย่างหนึ่ง คือ ยางรถยนต์ เมื่อหมดอายุแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเปลี่ยนเป็นยี่ห้อเดิมรุ่นเดิม
ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนยางให้ตรงกับรุ่นเดิมยี่ห้อเดิม โดยมักจะเลือกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ ไม่ยึดติดกับยางเดิมกัน อย่างมากก็คงแต่ขนาดไว้เท่านั้น แต่ยี่ห้อและรุ่นของยางมักจะเปลี่ยนไป
การ เลือกใช้อะไหล่อื่นนอกจากอะไหล่แท้ (แล้วแต่จะเรียกว่าอะไร) นับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะไม่มีมาตรฐานของผู้ผลิตรถยนต์เหมือนอะไหล่แท้ ผลิตกันอย่างอิสระ โดยส่วนใหญ่มักคุณภาพแย่ เพราะต้องการทำราคาให้ต่ำกว่าอะไหล่แท้ให้มากที่สุด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อ
นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความ เชื่อกันว่าอะไหล่ไม่แท้ ด้อยคุณภาพไปทั้งหมด ทั้งที่บางยี่ห้อบางรุ่นก็อาจจะดีกว่าอะไหล่แท้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ก็เท่านั้นเอง
การเลือกซื้อ ในบางชิ้นต้องใช้สายตาและการสัมผัสเป็นหลัก เช่น ยางหุ้มเพลาก็ลอง ดึงๆ ยืดๆ บิดดูเนื้อ แต่บางอย่างต้องหาข้อมูลก่อนตัดสินใจมากๆ เพราะไม่สามารถทดสอบได้ เช่น สอบถามผู้ที่เคยใช้มาก่อน ดูจากยี่ห้อที่อยู่บนอะไหล่แท้ชิ้นเดิม
สรุปว่าอะไหล่ที่ไม่แท้นั้น ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพต่ำเสมอไป เพราะต้องแล้วแต่นโยบายของผู้ผลิตแต่ละรายว่า ต้องการทำตลาดในระดับราคาไหน การเลือกใช้อะไหล่ที่ไม่แท้นั้นไม่ง่ายเลย แต่หลายอย่างก็เลือกไม่ยาก ถ้าสนใจหาข้อมูลและใช้ความรอบคอบในการเลือก
เครดิตบทความ: http://www.sahayon.com/